วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2562

หนุนใจในการทำดี

มิถุนายน 2016

หนุนใจในการทำดี


ยอห์น 15:16 ท่านทั้งหลายไม่ได้เลือกเรา แต่เราได้เลือกท่านทั้งหลาย และได้แต่งตั้งท่านทั้งหลายไว้ให้ท่านไปเกิดผล และเพื่อให้ผลของท่านคงอยู่ เพื่อว่าเมื่อท่านทูลขอสิ่งใดจากพระบิดาในนามของเรา พระองค์จะได้ประทานสิ่งนั้นให้แก่ท่าน
เมื่อตื่นเช้าลุกขึ้นมา เรามีความรู้สึกแรกคือ? ความคิดแรกที่เข้ามาก่อน? จะเป็นการขอบคุณพระเจ้า หรือนึกถึงเช้าวันใหม่ที่ดีๆ หรือนึกถึงงานที่หนักและเหนื่อยที่รอเราอยู่ นึกถึงคนที่เรารักหรือนึกถึงพระเจ้า
มีใครคิดว่า งานคือกำไร สุภาษิต 14:23 มีกำไรอยู่ในงานทุกอย่าง การเพียงแต่พูดนั้นโน้มไปทางความขาดแคลน มีใครคิดว่า งานเข้าซึ่งเป็นทัศนคติแง่ลบที่มีต่องาน ทุกชีวิตมีงานที่ต้องทำให้สำเร็จทั้งสิ้น
จาก บทเพลงที่ 251 กิจการพระเจ้าได้เริ่มต้นไว้นั้น ข้าพเจ้านึกถึงคำเทศนาที่ได้ฟังของคำว่าสำเร็จ
คำว่า ความสำเร็จ บางครั้งเรามองจากความคิด ความคาดหวังของเรา เมื่อไม่เป็นไปตามคาดหวัง ก็ถือว่าไม่สำเร็จ บางครั้งเรามองไปที่คนอื่น แล้วเราเห็นว่าเราไม่ได้ดีตามมาตรฐานโลกที่ใช้วัด เราก็ท้อ น้อยเนื้อต่ำใจ หรือบางครั้งเรามองว่าคนอื่นต่ำต้อยกว่าเรา เราก็ถือว่าเขาไม่ประสบผลสำเร็จ ความจริงแล้ว เขาอาจจะสำเร็จแล้วก็ได้ ไม่ว่างานในระดับใดก็ตาม ต้องมีเป้าหมาย ต้องมีวัตถุประสงค์

มัทธิว 11:28 ,29-30
บรรดาผู้ที่เหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนัก จงมาหาเรา และเราจะให้ท่านทั้งหลาย หายเหนื่อย เป็นสุข
จงเอาแอกของเราแบกไว้ แล้วเรียนจากเรา เพราะว่าเราสุภาพและใจอ่อนน้อม และจิตใจท่านทั้งหลายจะได้พัก
ด้วยว่าแอกของเราก็พอเหมาะ และภาระของเราก็เบา
            ขออนุญาตพูดเรื่องของแอกต่อจากคุณหมอจ๋า ที่ได้กล่าวไว้แล้ว

ฟิลิป บรูคส์ (Philips Brooks) นักประพันธ์ชื่อดัง กล่าวว่า
“I do not pray for a lighter load, but for a stronger back.”
(ผมไม่ได้ทูลขอภาระที่เบาลง แต่ทูลขอหลังที่แข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิม!) 
            ข้าพเจ้าคิดว่า การขอภาระให้เบาลง ก็เหมือนกับการปฏิเสธการงานที่พระเจ้ามอบหมายให้ทำเช่นกัน เพราะหน้าที่ที่พระเจ้าได้มอบหมายให้เราทำนั้น ก็เหมาะสมกับแต่ละคน เนื่องด้วยพระเจ้าได้ประทานของประทานที่แตกต่างกันไป เพื่อให้เราใช้ของประทานนั้นเสริมสร้างชีวิตซึ่งกันและกัน (ในพระธรรม 1 โครินธ์ 12) ให้การงานของพระเจ้านั้นสำเร็จ ไม่ใช่ให้เรานั้นสำเร็จตามความคิดของเราแต่ละคนเอง จึงมอบการงานที่เหมาะสมกับแต่ละคน คนเรานั้นต่างความคิด ต่างความเข้าใจ ต่างความสามารถ แต่เราสามารถรับใช้พระเจ้าร่วมกันได้เป็นอย่างดี เพราะเราอยู่ภายใต้การทรงนำของพระเจ้า ซึ่งบางครั้งเราก็เหนื่อยจริงๆ หากเรายึดความคิดที่เป็นตัวเรา เอาตัวเราเองเป็นศูนย์กลาง รับแบกอยู่คนเดียว ไม่พึงพาพระเจ้า เหมือนการไม่ไว้ใจ ในพระธรรม สุภาษิต 3:5-6 จงวางใจในพระเจ้าด้วยสุดใจของเจ้า และอย่าพึ่งพาความรอบรู้ของตนเอง จงยอมรับรู้พระองค์ในทุกทางของเจ้า และพระองค์จะทรงกระทำให้วิถีของเจ้าราบรื่น
            เค้าบอกว่า พระคัมภีร์ ก็เปรียบเสมือนกระจกเงาที่สะท้อนตัวเราเอง ว่าเราเป็นอย่างไร และเราจะปฏิบัติตัวอย่างไร
แอก  คืออะไรสำหรับคนไทย แอก คือ ไม้วางขวางบนคอวัว หรือควาย ใช้ไถนา” (โดยปกติมักมีความหมายในเชิงลบ  เช่น หมายถึง อำนาจไม่เป็นธรรมที่กดขี่อยู่!)
แต่ในพระคัมภีร์ “แอก มักจะใช้เป็นภาพของไม้วางขวางคล้องบนคอของสัตว์ 2 ตัว (เช่นวัว, ไม่ใช่ตัวเดียว) เพื่อเอาไว้ใช้ลากของหนัก ๆ หรือไถนา (ยรม.27:2;ฉธบ.21:3;1ซมอ.6:7;11:5;1พกษ.19:19) มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ว่า ต่างก็ยอมตัวให้แก่กันและกัน (2คร.6:14;ฟป.4:3;1ทธ.6:1;มธ.11:29) คำภาษาอังกฤษของคำว่า แอก(Yoke) นี้มาจากคำที่มีรากศัพท์ มีความหมายว่า ร่วม(กัน) (join) โดยทั่วไป แอก จึงเป็นสัญลักษณ์ของ ความยากลำบาก, การต้องรับใช้ หรือการยอมจำนน
เราต้องนำเอา ภาระหนัก หรือ ความยากลำบาก ทั้งหลายทั้งปวงของเรามาหาองค์พระเยซูคริสต์ด้วย
นอกจากแอกเป็นสัญลักษณ์ของ งานหนัก และงานต่ำต้อยแล้ว แอกยังเป็นสัญลักษณ์ของการมีส่วนร่วม การสมัครสมานสามัคคี การร่วมแรงร่วมใจ ดังเช่นในการขนย้ายสิ่งของนั้น เราอาจจะเห็นว่าบางครั้งก็ใช้วัวหรือควายเพียงตัวเดียวในการลากเกวียน แต่บางครั้งก็ใช้วัวหรือควายมากกว่านั้น เพื่อให้สามารถทำงานที่หนักขึ้น แอกเป็นอุปกรณ์สำคัญที่จะทำให้วัวหรือควายแต่ละตัวได้มีส่วนร่วมในการแบกรับภาระงานนั้น การรับแอกนั้น บางครั้งเราไม่ได้รับเพียงผู้เดียว แต่มีพี่น้องคนอื่นๆได้รับด้วย เพื่อเราจะร่วมมือกันในการทำงาน สิ่งที่ต้องเรียนรู้ก็คือ การที่ผู้เข้าร่วมเทียมแอกจะมีทิศทางหรือเป้าประสงค์เดียวกัน 
ในพระธรรม อิสยาห์ 43:2 ได้หนุนใจเราว่า เมื่อเจ้าลุยข้ามน้ำ เราจะอยู่กับเจ้า เมื่อข้ามแม่น้ำ น้ำจะไม่ท่วมเจ้า เมื่อเจ้าลุยไฟ เจ้าจะไม่ไหม้ และเปลวเพลงจะไม่เผาพลาญเจ้า

พระเจ้าตรัสว่า เพราะเรารู้แผนงานของเจ้าที่เรามีไว้สำหรับเจ้า เป็นแผนงานเพื่อสวัสดิภาพ ไม่ใช่เพื่อทุกขภาพ เพื่อจะได้อนาคตและความหวังใจแก่เจ้า แล้วเจ้าจะทูลขอต่อเรา และมาอธิษฐานต่อเรา และเราจะฟังเจ้า เจ้าจะแสวงหาเราและพบเราเมื่อเจ้าแสวงหาเราด้วยสิ้นสุดใจของเจ้า    - เยรามีย์ 29:11-13-
            ข้าพเจ้าอยากจะแบ่งปัน จากคำเทศนาในคริสตจักรที่หนึ่ง อาจารย์หญิง ได้บอกไว้ว่า ไม่ว่าเราจะรับหน้าที่อยู่เบื้องหน้าหรือเบื้องหลังก็ตาม เราก็ทำงานถวายเกียรติแด่พระเจ้าได้เราต้องมุ่งสู่เป้าหมายได้ ไม่ทำให้สิ่งใดมาทำให้เราไขว้เขว ในนิยามของคำว่าสำเร็จในแบบพระเยซูคริสต์ เป้าหมายของพระเยซูคือ การถวายเกียรติแด่พระเจ้า คนเราคาดหวังความสำเร็จไว้ต่างๆ นาๆ ไม่เหมือนกัน พอไม่สำเร็จตามที่หวังไว้ ก็ถือว่าไม่สำเร็จ หากมองแบบมนุษย์ พระเยซูถูกตรึงบนไม้กางเขน เหมือนกับว่าชีวิตพระองค์ล้มเหลว แต่พระองค์บอกว่า สำเร็จแล้วพระเยซูได้มอบหมายให้ผู้เชื่อสืบทอดเป้าหมาย เราล้วนมีเวลาจำกัด แต่ความสำเร็จของเราไม่จำกัด เราสามารถสืบทอดให้ผู้อื่น ส่งต่อหน้าที่นั้นให้ผู้อื่น คือ คนรับช่วงต่อ (Successor) Successor มีรากศัพท์มาจาก Success เมื่อเวลาเราหมดลง อย่าเห็นว่าหมดคุณค่า จงภูมิใจว่า ได้ส่งต่อให้ผู้อื่น
            ขอฝากข้อคิดที่ได้มีผู้กล่าวว่า ชีวิตเป็นของขวัญที่พระเจ้าประทานให้เรา แต่การดำเนินชีวิต เป็นของขวัญที่เรามอบถวายแด่พระเจ้า

วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2562

สันติสุข

9 ตุลาคม 2019


สันติสุข


พวกเราที่เป็นคริสเตียนคงเคยมีใครถามท่านเกี่ยวกับสันติสุข ข้าพเจ้าก็เช่นกัน มีคนถามข้าพเจ้าว่า “สันติสุขเป็นอย่างไร เพราะมักได้ยินคริสเตียนพูดว่าพวกเขามีสันติสุข ฉันก็อยากรู้เหมือนกัน ฉันอยากได้สันติสุขนั้น” ในฐานะที่เราเป็นคริสเตียน แล้วเราจะตอบว่าอย่างไรล่ะ หากเราไม่เคยสัมผัสสันติสุขเลย หรือยังไม่แน่ใจว่าที่เรารู้สึกอยู่นี้ใช่หรือไม่ เพราะยังมีแต่ความสงสัยและไม่แน่ใจ ในพระธรรมยอห์น 14:27 ...พระเยซูคริสต์ได้ตรัสว่า "เรามอบสันติสุขไว้ให้แก่ท่านทั้งหลาย สันติสุขของเราที่ให้แก่ท่านนั้น เราให้ท่านไม่เหมือนโลกให้ อย่าให้ใจของท่านวิตก และอย่ากลัวเลย" พระเยซูมอบสันติสุขไว้ให้กับผู้เชื่อและวางใจในพระองค์ ให้แบบฟรีๆ เพียงแต่เราจะรับไว้หรือไม่


ความสุข กับ สันติสุข จะมีความต่างกัน ความสุขนั้นมาจากปัจจัยต่างๆ ภายนอกแล้วเข้ามาอยู่ในใจเรา เช่น เราไปเที่ยวรู้สึกว่ามีความสุขเข้ามาในใจเรา แต่ความสุขเช่นนี้เราต้องแสวงหา เนื่องจากเป็นการเกิดจากสิ่งแวดล้อมส่งผลต่อความสุข หลังจากเราได้รับความสุขแล้ว การไปเที่ยวหรือที่เราเรียกว่าไปเติมพลัง กลับมาสักพักเมื่อเราเผชิญปัญหาต่างๆ เราก็กลับมาทุกข์ต่อ หรือทุกข์ใจ บางคนก็ใช้วิธีอาจจะกินเหล้าเมาแล้วรู้สึกมีความสุขลืมที่ทุกข์ แต่พอหายเมาก็มาทุกข์ต่อ ส่วนสันติสุขเกิดจากภายในของผู้เชื่อที่พระเยซูคริสต์มอบให้แล้วผู้นั้นรับไว้ เมื่อเกิดสันติสุขในจิตใจก็จะส่งออกภายนอก ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นผู้นั้นก็ยังคงมีสันติสุข เพราะไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม และยังส่งต่อเป็นความสุขให้ผู้อยู่ใกล้ได้รับอีกด้วย
เราคงเคยรู้สึก เวลาที่เราอยู่ใกล้บางคนแล้วรู้สึกว่ามีความสุข แล้วในทางตรงข้าม เราก็เคยรู้สึกเช่นกันเวลาอยู่ใกล้บางคนรู้สึกอึดอัด ไม่มีความสุข ไม่อยากอยู่ใกล้


สรุปคือ
ความสุขเกิดจากการแสวงหา สันติสุขเกิดจากการให้ คือพระเยซูคริสต์ให้ ให้มาฟรีๆ หรือจากการที่เราได้รับ
ความสุขเกิดจากปัจจัยภายนอก สันติสุขเกิดจากภายใน
ความสุขไม่ถาวร สันติสุขถาวรนิรันดร์
ความสุขต้องแสวงหาเพื่อให้ได้รับเรื่อยๆ ส่วนสันติสุขนั้นรับครั้งเดียวก็เพียงพอ และตลอดไป
ความสุขนั้นยึดตัวเราเป็นศูนย์กลาง พึ่งตัวเอง หาที่พึง ต้องแสวงหาเรือยๆ ส่วนสันติสุขนั้นให้พระเจ้าเป็นศูนย์กลาง

ข้าพเจ้าก็คนหนึ่งที่เคยแสวงหาความสุข หาคำตอบในชีวิต ข้าพเจ้าก็เชื่อว่าหลายๆ คนก็เช่นกัน เริ่มแรกก็คงแสวงหาเพราะเราไม่รับไว้ เรายังไม่รู้จักพระเจ้าอย่างแท้จริง ไม่แสวงหาพระเจ้าก่อน แต่เรากลับแสวงหาความสุขด้วยตัวเอง พึ่งพาตัวเอง


ผู้ที่เคยประสบความทุกข์ในหลายสิ่ง หลายอย่าง หลายด้านมาประดังในทีเดียวกันคงรู้ความรู้สึกนั้นดี หากเราใช้วิธีแบบคนทั่วไปหาความสุขเพียงชั่วคราวเพื่อให้ลืมๆ สิ่งต่างๆ ลง แต่เมื่อกลับเข้ามาใช้ชีวิตเดิมก็จะจมอยู่กับความทุกข์อีก วนไปวนมาอยู่เช่นนั้น คริสเตียนไม่ใช่ผู้ที่ต้องปราศจากความทุกข์ แต่เป็นผู้ซึ่งวางใจในพระเจ้า พึ่งพาพระเจ้า มีความหวังใจ ขอความช่วยเหลือ สติปัญญาจากพระเจ้าก่อน พระเจ้าจะเดินไปเรา คอยช่วยเหลือ อุ้มชูเราให้เราให้ผ่านปัญหานั้นไปได้ แบบทางที่ควรจะเป็น เพื่อไม่ให้กลับซ้ำเดิมอีก เพียงแต่เราเชื่อและวางใจ
ความทุกข์ ความกังวลถึงอย่างไรเราก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะสภาพแวดล้อม เราจะหนีไปอยู่มุมไหนของโลกเราก็ต้องเจอ
บางคนมีทุกอย่าง ประสบผลสำเร็จทุกด้าน แต่ไม่มีสันติสุข ยังมีความต้องการอะไรก็บอกไม่ได้ แสวงหา ไขว่ขว้า อยากได้มาเพื่อความสุขที่ก็ไม่เคยรู้จัก ทำให้ไม่รู้จักพอ


ยอห์น 16:33 
เราได้บอกเรื่องนี้แก่ท่าน เพื่อท่านจะได้มีสันติสุขในเรา ในโลกนี้ท่านจะประสบความทุกข์ยาก แต่จงชื่นใจเถิด เพราะว่าเราได้ชนะโลกแล้ว”


ฟีลิปปี 4:6‭-‬7
อย่าทุกข์ร้อนในสิ่งใดๆเลย แต่จงทูลเรื่องความปรารถนาของท่านทุกอย่างต่อพระเจ้า ด้วยการอธิษฐาน การวิงวอน กับการขอบพระคุณ แล้วสันติสุขแห่งพระเจ้าซึ่งเกินความเข้าใจ จะคุ้มครองจิตใจและความคิดของท่านไว้ในพระเยซูคริสต์
จะเห็นว่า หากเราแสวงหาพระเจ้าก่อนสิ่งอื่นใด เราก็จะรับเอาสันติสุขนั้นมาเป็นของเรา


กาลาเทีย 5:22‭-‬24
ฝ่ายผลของพระวิญญาณนั้น คือความรัก ความปลาบปลื้มใจ สันติสุข ความอดกลั้นใจ ความปรานี ความดี ความสัตย์ซื่อ ความสุภาพอ่อนน้อม การรู้จักบังคับตน เรื่องอย่างนี้ไม่มีธรรมบัญญัติห้ามไว้เลย ผู้ที่อยู่ฝ่ายพระเยซูคริสต์ได้เอาเนื้อหนังกับความอยาก และตัณหาของเนื้อหนังตรึงไว้ที่กางเขนแล้ว


ในเนื้อเพลงลำธาร ...สุขจนล้นหัวใจ ไม่อยากเก็บเอาไว้เพียงผู้เดียว ให้ชีวิตเหมือนลำธารไหลหลั่ง ให้แสงทองของพระองค์ส่องภายใน ประกาศไปถึงเรื่องราวรักยิ่งใหญ่ของพระองค์ ที่มีในชีวิตข้าตลอดไป
อีกส่วนหนึ่งของผู้เชื่อว่าทำไมจึงอยากประกาศเรื่องราวของพระเจ้า ก็คือ สุขที่มันล้นหัวใจออกมา ไม่อยากเก็บไว้เพียงผู้เดียว เหมือนดั่งในเพลงลำธาร ข้าพเจ้าได้ฟังเพลงนี้และเห็นผู้ที่ร้องเพลงนี้แล้วหน้าเค้าจะออกมาแบบนี้จริงๆ


โรม 5:1
เหตุฉะนั้น เมื่อเราได้เป็นคนชอบธรรมเพราะความเชื่อแล้ว เราจึงมีสันติสุขในพระเจ้า ทางพระเยซูคริสเจ้าของเรา


โคโลสี 3:15‭-‬17
และจงให้สันติสุขของพระคริสต์ครองจิตใจของท่าน พระเจ้าทรงเรียกท่านไว้ให้เป็นกายเดียวด้วย เพื่อสันติสุขนั้น และท่านจงมีใจกตัญญู จงให้พระวาทะของพระคริสต์ดำรงอยู่ในตัวท่านอย่างบริบูรณ์ จงสั่งสอนและเตือนสติกันด้วยปัญญาทั้งสิ้น จงร้องเพลงสดุดีเพลงนมัสการ และเพลงสรรเสริญด้วยใจโมทนาขอบพระคุณพระเจ้า และเมื่อท่านจะกระทำสิ่งใดด้วยวาจาหรือด้วยกายก็ตาม จงกระทำทุกสิ่งในพระนามของพระเยซูเจ้า และขอบพระคุณพระบิดาเจ้า โดยพระองค์นั้น


**หากเราต้องการสันติสุขแท้  ให้เราเข้าหาพระเจ้า


สดุดี 34:8
ขอเชิญชิมดู แล้วจะเห็นว่า พระเจ้าประเสริฐ คนที่ลี้ภัยอยู่ในพระองค์ก็เป็นสุข





วันพุธที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2562

น้ำใจไมล์ที่สอง

น้ำใจไมล์ที่สอง

            ในวันที่ 9 ตุลาคม 2019 นี้ ได้มีโอกาสได้ร่วมประชุมกับแผนกไอที จึงถือโอกาสฝากไว้ 1 เรื่องในเรื่อง The Spirit of the Second Mile หรือ น้ำใจไมล์ที่สอง เป็นข้อคิด ไม่อยากให้พวกเขาลืมคำนี้ ซึ่งมีความสำคัญกับชาวแมคคอร์มิคมาก ซึ่ง นายแพทย์เอ็ดวิน ชาร์ลส์ คอร์ท มิชชั่นนารีชาวอเมริกันเพรสไบทีเรียน อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลแมคคอร์มิค ผู้ก่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดนางพยาบาลแห่งโรงพยาบาลแมคคอร์มิค ค.ศ.1923 (ปัจจุบันคือ คณะพยาบาลศาสตร์แมคคอร์มิค มหาวิทยาลัยพายัพ) ท่านได้ยึดถือเป็นหลักในการดำเนินชีวิต และปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งมาจากพระธรรมมัทธิว 5:41 “ถ้าผู้ใดจะเกณฑ์ท่านให้เดินทางไปหนึ่งกิโลเมตร ก็ให้เลยไปกับเขาสองกิโลเมตร
             ความหมายคือ การเดินทางไมล์แรกหรือกิโลเมตรแรก คือทำตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มกำลังความรู้ ส่วนการเดินทางไมล์ที่สองหรือกิโลเมตรที่สอง คือใช้หัวใจ ปฏิบัติหน้าที่เพิ่มให้นอกเหนือจากความคาดหวัง ด้วยความเต็มใจโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน

ก็อยากฝากในช่วงปลายของชีวิตการทำงานสำหรับคนรุ่นหลัง