วันอังคารที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2566

อัตลักษณ์ที่ไร้คู่แข่ง

 

11 สิงหาคม 2023

อัตลักษณ์ที่ไร้คู่แข่ง

 

คุณเคยแข่งขันมั๊ย ?

เป็นคำถามจากหนังสือ ไร้คู่แข่ง ของลิซ่า บีเวียร์ อยู่ในบทที่ชื่อว่า อัตลักษณ์ที่ไร้คู่แข่ง หน้าปกของหนังสือได้เขียนว่า ยอมรับตัวตนและเป้าหมายชีวิตของคุณ ในยุคแห่งการเปรียบเทียบอันสับสน

ความจริงแล้ว หนังสือเล่มนี้ข้าพเจ้าได้มานานมากแล้ว นั่นก็แสดงว่า การแข่งขันแห่งการเปรียบเทียบอันสับสนนี้มีมานานแล้ว และเราก็ยังคงอยู่ในยุคนี้ ปัจจุบันในยุคการใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นหลักในชีวิตประจำวัน ทำให้คนเราแข่งขันกันในโลกออนไลน์ได้ตลอดเวลา

การแข่งขันที่ผู้เขียนกล่าวถึงนี้ ไม่ได้หมายถึงการแข่งขั้นฉันท์มิตรในเกมกีฬา และก็ไม่ใช่ภาพของเด็กน้อยที่แข่งขั้นกันเรียกร้องความสนใจและความรักจากพ่อแม่

การแข่งขันนี้เป็นภาพของศัตรูตัวร้ายที่คอยตำหนิวิพากษ์วิจารณ์ การแข่งขันที่ไม่ได้ให้ความรู้สึกต่อกันเหมือนแข่งกับเพื่อนหรือคนในครอบครัว เวลาคู่แข่งลงสนาม เป้าหมายไม่ใช่เพื่อชนะ แต่เพื่อกำจัดเราออกจากสนาม

จะเป็นอย่างไรถ้าเราพบว่าชีวิตที่เราปรารถนามาตลอดให้อยู่นอกเหนือโลกแห่งการแข่งขัน? จะเป็นอย่างไรถ้ารู้ว่าเราเองไม่จำเป็นต้องแพ้และถูกคัดออกจากเกม? จะเป็นอย่างไรถ้าพบว่าเราไม่มีทางแพ้? จะเป็นอย่างไรถ้าเราไม่เพียงแค่คิดนอกกรอบ แต่ยังเลือกใช้ชีวิตนอกกรอบได้ด้วย? (นอกกรอบนี้ก็คือกรอบที่สังคมได้ตีกรอบไว้ว่าเราต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้)

ผู้เขียนเล่าว่า ได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่นำเสนอว่า จุดสิ้นสุดของโลกอย่างที่เรารู้จักจะมาจากความแปลกแยก (alienation) ในหมู่มนุษย์ที่แพร่ไปทั่ว ในราชบัณฑิตยสถาน (2549) ได้อธิบาย ความแปลกแยกในความหมายกว้างโดยหมายถึง การเปลี่ยนจากการรู้สึกผูกพันไปเป็นการรู้สึกไม่เป็นมิตร เป็นปรปักษ์ หรือไม่ยินดียินร้ายต่อผู้อื่น ต่อกลุ่ม หรือแม้แต่ต่อตนเองเป็นต้น

ทฤษฏีบอกว่าจะมีเวลาที่โลกถูกแบ่งออกเป็นส่องขั้วหรือสองค่าย เมื่อสภาพแบ่งขั้วนี้แพร่ไปทั่วการแตกแยกก็จะเกิดขึ้น ชนวนเกิดจากเรื่องเล็กๆ จนกลายเป็นเหตุให้เกิดการรุกรานโจมตีกัน จนกระทั่งนำสู่เหตุการณ์ที่เรียกว่าสงครามยุคสุดท้ายอย่างเต็มขนาด

ความแตกแยกอย่างเป็นระบบที่แผ่ไปทั่วแบบนี้เริ่มต้นขึ้นจากความสัมพันธ์ระดับเล็ก อาจเริ่มจากครอบครัวที่แตกแยกเต็มไปด้วยสมาชิกที่ถูกทำร้ายจนจิตใจแตกสลาย จนกลายเป็นพลังที่สัมผัสได้ที่พยายามกระซิบคำลวงที่จู่โจมอารมณ์ความคิดจิตใจของเรา โดยหวังว่าจะกระตุ้นให้เราของขึ้นและหันไปใส่คนอื่น

เป็นการยากที่จะหลบเลี่ยงถ้อยคำหรือคนที่คอยบอกเราว่า เรายังไม่ดีพอ ไม่สวย ไม่หล่อพอ ยังฉลาดไม่พอ ยังเร็วไม่พอ และยังรวยไม่พอ เราถูกกระหน่ำเพื่อเราจะตัวเล็กลีบลงไปเป็นอย่างที่เขาเหล่านั้นอยากให้เราเป็น เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่เราต้องการหลีกพ้นคำเยาะเย้ยอย่างไม่หยุดหย่อน คำเยาะเย้ยที่บอกว่า เราไม่มีวันดีพอ เมื่อการรังควานนี้มาถึงจุดวิกฤต บางคนจะยอมแพ้และยอมรับสภาพ แล้วเป็นอย่างที่เขาอยากให้เป็น ขณะที่บางคนจะปฏิเสธ และตอบโต้ด้วยการระดมยิงคำกล่าวโทษกลับไป

เราตัดสินคนอื่น เมื่อเรารู้สึกว่าถูกตัดสิน

เราทำให้คนอื่นละลาย เมื่อเรารู้สึกละลาย

เราเกลียดคนอื่น เมื่อเราไม่ชอบตัวเอง

เวลาเราล้มละลาย ไม่นานนักเราก็อยากจะปล้นคนอื่น นี่เป็นวงจร ทุกคนจะแพ้และไม่มีคนชนะ แต่จะเป็นอย่างไร ถ้าถ้อยคำของ อ.เปาโลเป็นจริง?

1 ทิโมธี 6:6

อันที่จริงการอยู่ในทางพระเจ้าพร้อมกับมีความพอใจก็เป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวง

ทางของพระเจ้าคือ ความสามารถที่ยอมรับมุมมองของพระเจ้า นี่หมายความว่าเมื่อเรายอมรับวิธีที่พระองค์ทรงมองคนอื่น เราก็ยอมรับวิธีที่พระองค์ทรงมองเราด้วย

ความพอใจและความรู้สึกสบายใจในสิ่งที่เราเป็น ไม่ได้ก่อให้เกิดการปล่อยตัวเฉยชา แต่จะปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์! จงหนีจากบรรดาผู้วิพากษ์เราและคำวิจารณ์ทั้งหลาย พระองค์ทอดพระเนตรมาที่เราเสมอ ดังนั้นเราสามารถหันกลับไปจดจ่อที่พระองค์ได้ แทนที่จะแก่งแย่งสิ่งที่ไม่ถูกกำหนดให้เป็นของเรา ให้เราทุ่มเทพลังค้นหาสิ่งพระเจ้าประทานให้ที่เป็นของเราดีกว่า

บ่อยครั้งที่คนเราพยายามทำทุกสิ่งให้เสมอภาคกัน ทำให้เราคิดไปว่าพระเจ้าทรงรักเราเหมือนกันทุกคน เบื้องต้นคำว่า เหมือนกัน อาจฟังดูดี แต่ยังไม่ครอบคลุมพอ คำว่า เหมือนกัน อาจสื่อว่าแทนที่กันได้ หรือเปลี่ยนแทนกันได้

ผู้เขียนเล่าว่า เมื่อหลายปีก่อน สุนัขที่ผู้เขียนรักมากได้หนีออกจากบ้านไป ซึ่งอาจมองผิวเผินแล้วคิดว่าไม่เป็นไร ฉันก็แค่ซื้อตัวใหม่มาทดแทน และฉันก็คงจะรักมันเหมือนๆ กัน ความจริงแล้วก็ทดแทนกันไม่ได้ ดังเช่น หากเรามีลูกมากกว่า 1 คน เมื่อมีลูกคนที่ 2 หรือคนที่ 3 ความรักของเราก็ไม่ได้ถูกแบ่งออกไป แต่จะทวีขึ้นแบบไม่มีมาตรใดมาวัดได้ เราไม่สามารถกะปริมาณความรักต่อลูกแต่ละคนได้ ความรักที่มีต่อลูกแต่ละคนเป็นไปตามเอกลักษณ์เฉพาะคน ลูกแต่ละคนปลุกเร้าความรักของพ่อแม่ในแบบที่แตกต่างกัน

ความรักของพระเจ้าก็เช่นกัน ไม่สามารถตวงวัดได้ นักบุญออกัสตินกล่าวว่า พระเจ้าทรงรักเราแต่ละคนราวกับว่าเราเหลืออยู่เพียงคนเดียว ความรักของพระเจ้าไม่เหมือนก้อนขนมเค้กที่พ่อแม่พยายามตัดแบ่งเป็นส่วนๆ ให้เท่าเทียมกัน เพื่อไม่ทำให้ลูกคนใดรู้สึกได้น้อยกว่ากัน ความรักอันยิ่งใหม่ของพระองค์ไม่จำกัดอยู่แค่สัดส่วนที่แบ่งกัน พระเจ้าทรงรักเราตั้งแต่ก่อนปฐมกาล และความรักที่พระเจ้ามีให้เรานั้นไม่มีที่สิ้นสุด หลายครั้งที่เราอาจหันหลังให้พระองค์ หนีพระองค์ หรือทำเรื่องแย่ๆ แต่การกระทำของเราก็ไม่สามารถทำให้พระองค์หยุดรักเราได้

เยเรมีย์ 31:3

เราได้รักเจ้าด้วยความรักนิรันดร์ เพราะฉะนั้นเราจึงมีความรักมั่นคงต่อเจ้าสืบไป

พระองค์ทรงรักเรา รักตัวตนที่แท้จริงของเรา รักตามเอกลักษณ์เฉพาะตัวเรา ด้วยความรักนิรันดร์ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ว่าเราจะเป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ อ้วน ผอม สูง ต่ำ ดำ ขาว พระองค์ก็ทรงรักเรา พระองค์ทรงรักเราอย่างไม่มีเงื่อนไข พระเจ้าทรงเป็นความรัก พระเจ้าไม่ได้แค่มีความรักให้เรา พระองค์ทรงเป็นความรักสำหรับเรา เราเป็นที่รักของพระเจ้าตามแบบฉบับเฉพาะตัวของเรา เพราะเราถูกสร้างขึ้นมาอย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่มีอะไรเทียบได้ หรือไร้คู่แข่ง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าพระเจ้าจะรักเรามากขึ้นหากเราขาวกว่านี้ หุ่นดีกว่านี้ รวยกว่านี้ หรือพยายามจะเป็นเหมือนอีกคน เพราะคิดว่าพระองค์จะรักเราหรือยอมรับเรากว่านี้ ผู้เขียนก็ได้กล่าว่า ให้เราหยุดเสียเวลามองหาไปทั่ว หรือยอมให้ความเห็นของสังคมที่เปลี่ยนแปลงเสมอ มาประทับภาพหรือแนวคิดที่เลียนแบบผู้อื่นให้กับตัวเรา ให้เรามั่นใจโอบรับทุกสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้างเราให้เป็นภาพสะท้อนพระลักษณะอย่างมีเอกลักษณ์ตามแบบของเรา

พระเจ้าทรงรักเราตามแบบเฉพาะของเรา พระเจ้าทรงกำลังทำสิ่งที่พระองค์ได้ทรงกำหนดไว้ให้สำเร็จ ขอให้เราติดตามพระองค์เพื่อให้เราทราบน้ำพระทัยของพระองค์ในชีวิตของเรา พระองค์จะทรงนำเราไม่ให้เท้าของเราก้าวพลาดไป

เอเฟซัส 2:10

เพราะว่าเราเป็นฝีพระหัตถ์ของพระองค์ ที่ทรงสร้างขึ้นในพระเยซูคริสต์เพื่อให้ประกอบการดี ซึ่งพระเจ้าได้ทรงดำริไว้ล่วงหน้าเพื่อให้เรากระทำ

ขอหนุนใจให้เราทูลขอพระเจ้าให้ประทานความเข้าใจพระประสงค์ของพระเจ้าที่มีในชีวิตเรา